Sunday, 6 December 2015

ความงดงามของทุนนิยม beauty-of-capitalism



คำพูดของพี่โจน จันได* มีคนแชร์เยอะกว่าที่คาด

อาจเป็นเพราะประโยคมันแรง ก็เลยมีทั้งคนถูกใจมากๆ และคนที่ไม่ชอบใจมากๆ

พี่โจน จันได หันหลังใหักับทุนนิยม ปฏิเสธการศึกษากระแสหลัก และหันไปพึ่งพาตัวเอง

ซึ่งจะว่าไปก็เท่ชะมัด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำได้

—–

ในระยะหลัง “ทุนนิยม” ได้รับบท “ผู้ร้าย” มาโดยตลอด

เพราะมันได้ดึงส่วนที่มืดที่สุดของมนุษย์ออกมา ทำให้คนเอาเปรียบกัน แก่งแย่งชิงดีกัน เพราะมุ่งไปหา “เงิน” เป็นหลัก

วันนี้เลยอยากมาชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของทุนนิยมกันบ้าง

ผมอ่านเจอเรื่องนี้ใน Quora ภายใต้คำถามที่ว่า Is Capitalism a zero-sum game

ส่วนเนื้อหาที่คนตอบเอามาอ้างอิงนั้นมาจากหนังสือเรื่อง Why Not Capitalism? ของ Jason Brennan

—–

เจสันอธิบายประโยชน์ของทุนนิยมให้ฟังในชั้นเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) ที่เขาสอน

เวลาที่เด็กเข้าห้องเรียน เจสันจะหยิบ candy bar ให้นักเรียนคนละชิ้น (candy bar คือช็อคโกแลตหรือขนมที่มีลักษณะเป็นแท่งแบน) โดยแต่ละคนจะได้แคนดี้บาร์ต่างกันไป

จากนั้นเจสันจะให้นักเรียนให้คะแนนความพึงพอใจกับแคนดี้บาร์ในมือของตัวเอง ว่าจากคะแนนเต็มสิบนั้น ตัวเองพอใจแค่ไหน

เมื่อทุกคนให้คะแนนเสร็จแล้ว เจสันจะเอาคะแนนของทุกคนมารวมกัน ในกรณีนี้ได้คะแนนรวม 103 คะแนนจากเด็ก 19 คน (คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5.42)

และก็มาถึงส่วนสำคัญ

เจสันบอกว่า ทุกคนในห้องสามารถจะแลกแคนดี้บาร์กับใครก็ได้ (โดยที่ต่างฝ่ายต่างต้องยินดีที่จะแลกแคนดี้บาร์ของตัวเอง ห้ามมีการบังคับ)

นักเรียนส่วนใหญ่เลือกที่จะเอาแคนดี้บาร์ของตัวเองไปแลกกับของเพื่อนที่มีแคนดี้บาร์ที่ตัวเองถูกใจกว่า

เมื่อแลกเสร็จแล้ว เจสันให้นักเรียนให้คะแนนความพึงพอใจอีกครั้ง

คราวนี้คะแนนรวมเพิ่มเป็น 149 (เฉลี่ย 7.8) หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50%

นี่คือประโยชน์ของทุนนิยม

ในห้องเรียนนี้ ไม่มีใครที่สถานภาพแย่ลง เพราะเขาจะแลกแคนดี้บาร์ก็ต่อเมื่อมันทำให้เขามีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

คราวนี้ลองคิดต่อ

ถ้านักเรียนไม่จำเป็นต้องเอาแคนดี้บาร์ไปแลกกับแคนดี้บาร์ แต่สามารถใช้เงินของตัวเองซื้อเพิ่มได้ด้วย ใครใคร่ได้แคนดี้บาร์สองแท่งก็สามารถซื้อจากคนที่ไม่อยากกินซักแท่ง เพราะกำลังควบคุมน้ำหนักอยู่

และถ้าสมมติว่านักเรียนสามารถผลิตแคนดี้บาร์เองได้ด้วย โดยอาจจะทำได้ดีกว่าแคนดี้บาร์ที่มีอยู่ในตอนนี้ด้วยซ้ำ โดยนักเรียนสามารถยืมเงินจากเพื่อนหรือร่วมกันลงขันเพื่อสร้างโรงงานแคนดี้บาร์ก็ได้

และสมมติว่าคนที่มีแคนดี้บาร์สองอัน คิดอยากจะแบ่งแคนดี้บาร์สักชิ้นให้กับคนที่ไม่มีก็ได้

ความน่าจะเป็นก็คือ ดัชนีแห่งความสุขในห้องเรียนนี้น่าจะเพิ่มขึ้นไปได้อีก

และนี่คือความงดงามของทุนนิยมและตลาดเสรี

แน่นอน ในโลกแห่งความจริง ทุกคนไม่ได้เกิดมาเท่ากัน นักเรียนบางคนอาจจะมีแคนดี้บาร์จากบ้านเป็นสิบแท่ง ขณะที่บางคนอาจไม่มีแคนดี้บาร์มาแลกกับใครเลย ซึ่งในกรณีนี้ อาจารย์อาจจะต้องออกแรงช่วยคนที่ไม่มีแคนดี้บาร์มากหน่อย

หรือบางคนอาจใช้กำลังขู่เข็ญเพื่อให้ได้แคนดี้บาร์จากเพื่อนร่วมห้องที่ตัวเล็กกว่า

หรืออาจารย์บางคนอาจจะเก็บภาษีแคนดี้บาร์เพื่อเอาไปบำรุงบำเรอกระเพาะของตัวเอง

ดังนั้นระบบทุนนิยมอาจจะไม่เพอร์เฟ็กต์

แต่ถ้าทุนนิยมในสังคมนั้นมีศีลธรรมกำกับ

ทุนนิยมก็อาจสร้างสังคมในอุดมคติได้เช่นกัน

—–

ป.ล. การที่เมื่อวานผมเขียนบทความ “โจมตี” ทุนนิยม แล้วมาวันนี้มาเขียน “อวย” ให้ทุนนิยม ไม่ได้แปลว่าผมไม่มีจุดยืนนะครับ

จุดยืนของผมมีอย่างเดียว คือ “เพิ่มมุมมองใหม่ๆ ให้ชีวิต” สำหรับคนที่เข้ามาอ่านบล็อกนี้

ได้มุมมองใหม่ๆ ไปแล้ว จะเชื่อ จะค้าน ก็ไม่เป็นไร

แค่คุณเข้ามาอ่าน แล้วเอาไปคิดต่อ ก็ขอบคุณมากๆ

—–

* สรรพนามเปลี่ยนจาก คุณโจน จันได เมื่อวานนี้ มาเป็น พี่โจน จันไดวันนี้ เพราะพี่ทำให้บล็อกของผมมีคนเข้ามาอ่านเยอะเลย จึงรู้สึกขอบคุณและขอสมัครเป็นน้องครับ

—–

ที่มา http://anontawong.com
ภาพจาก www.aei.org

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment