Monday 7 September 2015

วรรณกรรมคลาสสิค 12 เล่มที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณได้

การอ่านอาจจะดูเคร่งเครียดแต่ก็ทำให้เราติดงอมแงมได้ ถ้าลองได้อ่านอย่างจริงจัง ผลการศึกษาและทดลองพิสูจน์ว่าหนังสือที่อ่านนั้นมีผลต่อความคิด ซึ่งน่าสนใจมากที่หนังสือดีมักเป็นที่นิยมในวงกว้าง ครองใจทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับในสังคมและเชื้อชาติ รายการหนังสือน่าอ่านทั้ง 12 เล่มนี้เป็นตัวอย่างหนังสือที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของนักอ่านมาแล้วมากมาย ถ้าคุณยังไม่เคยอ่าน ก็น่าจะลองหามาอ่าน เพราะอย่างน้อยการอ่านหนังสือก็เป็นการสร้างความสุนทรีย์ให้กับเราได้ดีที่สุด
shakespeare-hamlet-1024x768.jpg
1. To Kill A Mockingbird (ผู้บริสุทธิ์) แต่งโดย ฮาร์เปอร์ ลี หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1960 หลังจากนั้นไม่นานก็ดังเป็นพลุแตก ด้วยเนื้อหาที่อบอุ่นแฝงมุกตลก แม้ว่าจะพาดพิงในเรื่องการกระทำชำเราและความไม่เท่าเทียมกันของเชื้อชาติ แอทติคัส ฟินช์ ซึ่งเป็นบิดาของผู้เล่าเรื่องกลับกลายวีรบุรุษผู้ทรงคุณธรรมในสายตาของผู้อ่าน และเป็นผู้มีจริยธรรมในเหล่านักกฎหมายไปตลอดกาล

2. The Trial (คดีความ) แต่งโดย ฟรานซ์ คาฟคา ถือเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเล่มหนึ่งของผู้เขียน เป็นเรื่องราวของชายธรรมดาคนหนึ่งที่จู่ๆ พบว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในวังวนของระบบอมาตยาธิปไตยและความอยุติธรรมในสังคม คาฟคายังได้รับการเชิดชูให้เป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดท่านหนึ่งในศตวรรษที่ 20 ด้วย

3. The Catcher in the Rye (จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น) แต่งโดย เจ.ดี. ซัลลินเจอร์เป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1951 แต่กลับเป็นนิยมในหมู่นักอ่านวัยรุ่น เนื้อหาแสดงถึงความวุ่นวายสับสนและแปลกแยกของวัยว้าวุ่น จนได้รับการยกย่องจากนักเขียนและจากสมาคมวรรณกรรมทันสมัยว่าเป็นหนึ่งในร้อยของนวนิยายภาษาอังกฤษที่เยี่ยมที่สุดในศตวรรษที่ 20 ด้วยเนื้อหาที่แยบยลตีแผ่ในแง่ความมีอัตตา การปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ความหวงแหนและแปลกแยกไว้อย่างลงตัว

4. The Brothers Karamazov (พี่น้องคารามาคอฟ) แต่งโดย ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของผู้เขียน มีเนื้อหาล้วงลึกถึงการโต้แย้งทางจริยธรรม ความศรัทธาในพระเจ้า ความดีงามและเจตจำนงเสรี บนท้องเรื่องที่ถ่ายทอดถึงความพยายามดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง ท่ามกลางศรัทธา ความสงสัยและเหตุผล โดยมีฉากของรัสเซียในยุคฟื้นฟู นับเป็นอีกเล่มที่ได้รับการยกย่องอย่างเยี่ยมยอดในแวดวงวรรณกรรม

5. Hamlet, Price of Denmark (เจ้าชายแฮมเล็ต) แต่งโดย วิลเลียม เช็คสเปียร์ ถ่ายทอดถึงความจริง การเสแสร้ง คลุ้มคลั่ง ความรันทดอันเหลือทน ความเดือดดาลจนถึงจุดแตก ผนวกกับเนื้อหาที่พาดพิงเรื่องการแก้แค้น ความสัมพันธ์ชู้สาวในครอบครัว การทรยศและการยอมจำนนต่อความต่ำช้า ช่วยเรียงร้อยให้โศกนาฏกรรมในเรื่องแฮมเล็ตเป็นนวนิยายที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมภาษาอังกฤษมากที่สุดในยุคต่อๆมา

6. Anna Karenina (แอนนา คาเรนิน่า) แต่งโดย เลโอ ตอยสตอย นับเป็นนวนิยายที่มีเนื้อหาแสนรันทด จากความรักและตัณหาที่คุกรุ่น และผลพวงของความไม่ซื่อสัตย์และริษยา ทำให้หนังสือที่บอกเล่าถึงความรักที่สิ้นหวังเล่มนี้ เป็นที่ชื่นชอบในแวดวงวรรณคดีระดับสากล นักอ่านรุ่นแล้วรุ่นเล่าต่างหลงใหลในตัวละครที่ชื่อแอนนา คาเรนิน่าที่เป็นภรรยาอมทุกข์ ทว่าเข้มแข็งและสง่างาม ที่หาญกล้ามามีความสัมพันธ์สวาทแบบลับๆกับ ท่านเค้าต์ วรอนสกี้

7. A Christmas Carol (อาถรรพ์วันคริสต์มาสฉ แต่งโดย ชาร์ลส์ ดิคเก้นส์นักเขียนชาวอังกฤษที่พลิกโฉมหน้ารูปแบบการฉลองคริสมาสต์ใหม่ในประเทศอังกฤษ ด้วยเนื้อหาที่เปี่ยมด้วยความสนุกสนาน อบอุ่น สดชื่นและมีชีวิต ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความหมดหวัง เย็นชา มืดมน เศร้าสลดและโศกนาฏกรรมออกมาได้อย่างแยบยล

8. The Little Prince (เจ้าชายน้อย) แต่งโดย อองตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี (เรียงร้อยความใคร่รู้ งดงาม ความรักและการสูญเสียในมุมมองของเจ้าชายวัยน้อย เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่นักอ่านวัยเยาว์และผู้ใหญ่

9. Hundred years of solitude (ร้อยปี แห่งความโดดเดี่ยว) แต่งโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ  ด้วยเนื้อหาที่ฉายภาพที่ดูราวกับมีชีวิต ที่มีทั้งความเศร้าสร้อย ดึงดูดและโดดเด่น ผ่านตัวละครต่างๆไม่ว่าชายและหญิง ผนวกด้วยอารมณ์ซาบซึ้งเห็นใจ ความสัตย์และความอัศจรรย์แห่งจิตวิญญาณ ทำให้เป็นนวนิยายที่เอกอุในทุกๆด้าน และสะท้อนถึงวรรณกรรมเชื้อชาติลาตินอเมริกันในยุดศตวรรษที่ 20 ได้อย่างไร้ที่ติ

10. Harry Potter (“พ่อมดน้อย แฮรี พอตเตอร์) แต่งโดย เจ.เค. โรว์ลิ่ง เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อนักอ่านวัยเยาว์มากที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 การผจญภัยของแฮรี พอตเตอร์และเพื่อนนักเรียนโรงเรียนสอนเวทมนตร์ฮอควอตส์ ผนวกความตื่นเต้น ลึกลับ มหัศจรรย์ โรแมนติคและผจญภัยเข้าไว้อย่างลงตัว แม้ว่าผู้เขียนจะยอมรับว่านี่คือนิยายที่ว่าด้วยเรื่องของการสูญเสียเป็นเนื้อหาหลัก

11. Brave New World (โลกวิไลซ์) แต่งโดย อัลดัส ฮักซลีย์นับเป็นวรรณกรรมเล่มหนึ่งที่น่าหลงใหลและลุ่มลึกเท่าที่มีการเขียนมา กลายเป็นสัญลักษณ์ของโลกอุดมคติที่เปี่ยมด้วยความสุขแบบจอมปลอม โลกวิไลซ์คือโลกที่ไร้ซึ่งรักและพิศวาส เนื้อหาแสนดึงดูดทว่าสร้างความอึดอัดในอกให้ผู้อ่าน เมื่อผู้คนโดนควบคุม ไร้ซึ่งชีวิตจิตใจ ในปี ค.ศ. 1999 โลกวิไลซ์ได้รับการยกย่องจากสมาคมวรรณกรรมทันสมัยให้อยู่ในอันดับที่ 5 จากหนังสือภาษาอังกฤษ 100 เล่มที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20

12.Nineteen eighty-four (1984) แต่งโดย จอร์จ ออร์เวล ด้วยความตั้งใจให้เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่เสนอเนื้อหาของโลกอนาคตที่น่าสะพรึงกลัว (Dystopia) แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงในยุคปัจจุบันไปแล้ว แนวคิดต่างๆในนิยายที่แต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1949 กลายเป็นรากฐานของแนวคิดที่ถูกใช้ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Big Brother Newspeak Room 101 Doublethink Thoughtcrime 2+2 = 5 หรือ Telescreen ที่ล้วนแล้วแต่เป็นระบบที่ใช้ควบคุมคนในสังคมด้วยการเฝ้าจับตามอง ก่อให้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า “แนวออร์เวล” เมื่อทุกการเคลื่อนไหวในสังคมโดนเฝ้าระวังจับตามองจากรัฐคลั่งเผด็จการ

แปลและเรียบเรียงจาก : 12 Classic Books That Will Change Your Life



ภาพประกอบ : http://www.lifespan.com/
ที่มา : http://www.tkpark.or.th/

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment