Cyber attack สงครามในรูปแบบใหม่ คืออะไร
ทุกวันนี้ สงครามได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบไปเสียใหม่ อยู่ในโลกไซเบอร์ที่คอมพิวเตอร์ทั้งหลายเชื่อมโยงเข้าหากัน ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศเริ่มหันมาต่อสู้กันผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ โลกทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายแทบทั้งหมด ข้อมูลเกือบทุกอย่างถูกบันทึกไว้แบบดิจิตอลบนระบบคอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานจะต้องมี แม้แต่หน่วยงานทางด้านทหารและความมั่นคงก็ตาม และที่สำคัญสงครามไซเบอร์นี้มีความร้ายแรงไม่แพ้สงครามในรูปแบบเก่าเสียด้วย
ถ้าพูดถึงคำว่า “สงคราม” ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนต่างหวาดกลัวและไม่มีใครคิดอยากจะให้เกิดขึ้นใช่ไหมครับ แต่ดูเหมือนว่าสงครามในแบบที่เรารู้จักที่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ทหาร ยานยนต์ทางภาคพื้นดิน น้ำ และอากาศ เพื่อห้ำหั่นกันนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าหลังไปเสียแล้ว
อีกประเทศหนึ่งที่น่าจะมีการพัฒนาฝีมือด้าน Cyber attack ไว้เป็นอย่างดี คือ ประเทศเกาหลีเหนือ โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่คู่ปรับซึ่งก็คือประเทศเกาหลีใต้ที่มีปัญหากันมา เป็นเวลาเนิ่นนานนั่นเอง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ระบบกระจายสัญญาณโทรทัศน์และระบบคอมพิวเตอร์ในธนาคารของประเทศเกาหลีใต้หยุด การทำงานกะทันหัน ทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นอย่างมาก ต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2558 นี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้ประกาศประนามประเทศเกาหลีเหนือที่ได้ทำการเจาะระบบของ โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Korea Hydro and Nuclear Power (KHNP) โดยได้ขโมยข้อมูลบางส่วนไป ซึ่งแฮกเกอร์ได้เรียกร้องเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนให้หยุดการโจมตี ซึ่งทางรัฐบาลประเทศเกาหลีใต้ได้ตรวจสอบร่องรอยของการโจมตีและพบว่าแฮกเกอร์ มีฐานที่มั่นอยู่ที่บริเวณชายแดนระหว่างประเทศจีนกับเกาหลีเหนือนอกจากนี้การโจมตีฐานข้อมูลของบริษัท Sony Pictures ในปีที่ผ่านมาก็มีความเชื่อว่าเป็นฝีมือของประเทศเกาหลีเหนือเช่นกัน
ตัวอย่างการโจมตีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ โด่งดังในปี 2553 เกิดจากหนอนคอมพิวเตอร์ (computer worm) ชื่อว่า “Stuxnet” โดยที่เจ้าหนอนคอมพิวเตอร์ Stuxnet นี้ ได้ถูกปล่อยเข้าไปทำลายระบบเครื่องหมุนเหวี่ยงนิวเคลียร์ในโรงงาน นิวเคลียร์ประเทศอิหร่านจนเสียหายไปเป็นจำนวนเกือบร้อยละยี่สิบของทั้งหมด การทำงานของ Stuxnet เริ่มจากการแฝงตัวอยู่ใน USB drive ที่เมื่อนำไปเสียบเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็น Microsoft Windows และมีโปรแกรม Siemens Step 7 ที่ใช้ในระบบเครื่องหมุนเหวี่ยงนิวเคลียร์ จากนั้นเจ้า Stuxnet ก็จะควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์และปรับค่าให้เครื่องหมุนเหวี่ยงฯ ทำงานเร็วเกินค่าปกติและเสื่อมสภาพไปในที่สุด ส่งผลให้เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาล ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายตรงกันข้ามเพื่อยับยั้ง การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน
และที่เป็นข่าวฮือฮาขึ้นมาอีกครั้งเมื่อไม่ กี่วันที่ผ่านมานี้ เกิดขึ้นจากการที่ศาสตราจารย์คิม (Kim Heung-Kwang) ผู้เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ณ Hamheung Computer Technology University ในประเทศเกาหลีเหนือเป็นเวลากว่ายี่สิบปี ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ศักยภาพของทีมแฮกเกอร์ที่เกาหลีเหนือมี ภายใต้ชื่อว่า Bureau 121 นั้นสูงมาก สามารถที่จะทำลายสถานที่สำคัญรวมถึงคร่าชีวิตผู้คนได้ไม่ต่างจากอาวุธสงคราม เลยทีเดียว
ศาสตราจารย์คิมได้เล่าว่าเขาเป็นผู้สอนหลักการพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์ให้ กับนักศึกษาเท่านั้น ไม่ได้สอนพวกเขาให้แฮกระบบคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ซึ่งบางส่วนขอนักศึกษาที่เขาได้สอนได้ผันตัวไปเป็นแฮกเกอร์ในหน่วย Bureau 121 ที่พวกเขาเหล่านี้เชื่อว่าตนเองเป็น “นักรบไซเบอร์” ที่พร้อมจะทำสงครามตามคำสั่งของผู้นำเกาหลีเหนือศ.คิม ยังเปิดเผยอีกว่าหน่วย Bureau 121 นั้นอาจจะมีขนาดใหญ่ถึง 6,000 คน อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณถึง 10-20% ของงบประมาณทางการทหารเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีเป็นที่เชื่อกันว่าหน่วยงานที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นมาหลายสิบปีที่ แล้วและดำเนินการอยู่นอกประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งยังไม่สามารถระบุตำแหน่งได้อย่างแน่ชัด ศ.คิม ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันเพื่อหยุดยั้งแผนการนี้เสียก่อนที่จะ เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น
จากเหตุการณ์ที่ผมได้เล่าให้เพื่อนๆ ฟังมาทั้งหมดนี้ เราก็คงพอจะเห็นภาพได้ว่าการต่อสู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านกายภาพด้วยอาวุธ และคนอีกต่อไป แต่เริ่มที่จะเปลี่ยนไปเป็นการรบบนโลกไซเบอร์ที่นอกจากจะยากต่อการป้องกัน แล้ว ยังส่งผลร้ายแรงได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสงครามในรูปแบบเดิมเลยทีเดียว
http://www.bbc.co.uk/news/technology-32925495
http://arstechnica.com/security/2015/03/south-korea-claims-north-hacked-nuclear-data/
http://english.yonhapnews.co.kr/national/2015/03/12/40/0302000000AEN20150312008051320F.html
http://www.bbc.co.uk/news/technology-32925503
http://en.wikipedia.org/wiki/Stuxnet#History
https://www.blognone.com/node/68932
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment