Saturday 21 May 2016

สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก (Meiofauna)

สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก (Meiofauna)

 

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก “แล้วปลาเล็ก...กินอะไร?” ตอบแบบเอาฮาก็ต้องบอกว่า “กินอะไรที่เล็กกว่านั้นก็คือ ‘สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก (Meiofauna)’ กลุ่ม สัตว์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งอย่างห่วงโซ่ระบบนิเวศ ทั้งเป็นอาหารสำหรับปลาและสัตว์น้ำหลายชนิด และเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนได้อย่างดี
  ผลจากการศึกษาวิจัยทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในผืนป่าชายเลนปราณ โดย ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธาน สมาคมป่าชายเลนนานาชาติ (INTERNATIONAL SOCIETY FOR MANGROVE ECOSYSTEM ISME) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิชาวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทีมงาน ได้สำรวจพบกลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดินในพื้นที่ป่าชายเลน บริเวณศูนย์ฯสิรินาถราชินี จำนวนมากถึง 52 ชนิด นอกจากชนิดพันธุ์ที่หลากหลายทำให้สามารถบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แล้ว ยังพบว่าเจ้าสัตว์ทะเลตัวจิ๋วเหล่านี้ไม่ธรรมดาจริงๆ
               ที่ ว่าไม่ธรรมดานั้น เพราะความ ‘จิ๋ว’ ของกลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดินที่มีขนาดเล็กระดับไมโครเมตร ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องมีตัวช่วยคือ ‘กล้องจุลทรรศน์’ โดยสัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็กนี้ ยังแบ่งออกได้เป็นประเภท ‘เล็กถาวร’ หรือเรียกง่ายว่า ตัวเล็กตั้งแต่เกิดจนโต ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะไม่โตไปกว่านี้อีกแล้ว เช่น ไส้เดือนตัวกลม หรือหนอนตัวกลม (Nermatode) โคพีพอด (Copepod) และฟอแรมมินิเฟอรา (Forraminifera)
ส่วน อีกประเภทหนึ่งคือ ‘เล็กชั่วคราว’ ได้แก่ ระยะตัวอ่อนของสัตว์หน้าดินขนาดใหญ่และสัตว์น้ำต่างๆ หรือชนิดที่เรียกได้ว่า ‘เล็กวันนี้ ใหญ่วันหน้า’ ได้นั่นเอง อย่างเช่น ไส้เดือนทะเล (Polychaetes) หอยฝาเดียว หอยสองฝา ซึ่งพบได้ทั้งในผิวดินที่ชื้นแฉะของป่าชายเลน ทั้งในบริเวณชายหาด ป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง ในดินเลนระดับลึกไม่เกิน 5 เซนติเมตรจากผิวดิน
นี่แหละที่เขาว่า ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ ...ไม่มีแก๊งนี้ขยะคงเต็มป่าชายเลน
               จาก สัตว์ขนาดจิ๋ว ก็ขยับขึ้นมาอีกนิด เป็นกลุ่มที่เรียกว่า ‘สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดใหญ่ (Macrofaunal)’ มีขนาดตั้งแต่ 0.5 มิลลิเมตรขึ้นไปบางชนิดเป็นตัวโตเต็มวัยของประเภทเล็กชั่วคราวมีทั้งที่ อาศัยอยู่บนพื้นดิน และพวกที่ฝังตัวอยู่ในดิน บทบาทสำคัญคือ ช่วยย่อยสลายเศษซากใบไม้เช่นกัน และหมุนเวียนธาตุอาหารในป่าชายเลนยกขบวนกันมาทั้งปลาตีน ปูก้ามดาบ ปูแสม หอยสีแดง หอยขี้กา ไส้เดือนทะเล หอยสองฝาบางชนิด เช่น หอยเจาะ หรือเพรียงเจาะ...เห็นชื่อแล้วรู้สึกคุ้นกันบ้างไหม
Untitled-1
               ที่ เอ่ยถึงมาแต่ละชนิด เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลการวิจัยเท่านั้น ซึ่งกว่าเราจะได้รู้ว่า มีเจ้าตัวเล็กแบบนี้มากมายขนาดไหน ต้องผ่านวิธีการสืบค้นอย่างละเอียด ลองมาสวมวิญญาณนักวิจัยกันดีกว่า
 เริ่มต้นจากการสุ่มพื้นที่เก็บ ตัวอย่าง ทำโดยใช้ท่อเก็บตัวอย่าง (corer) เครื่องมือสำคัญที่ดัดแปลงจากกระบอกฉีดยาพลาสติกขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร ตัดส่วนปลายออกแล้วกดกระบอกฉีดยาลงไปในดินให้ลึกมากกว่า 5 เซนติเมตร ที่ทำเครื่องหมายไว้ ตัดดินส่วนที่โผล่พ้นกระบอกฉีดยาทิ้งไป ดันดินยาว 5 เซนติเมตรที่เหลืออยู่ในท่อเก็บเป็นตัวอย่างไว้ในถุงซิปล็อค
               จาก นั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการ ‘ดองดิน’ ที่เต็มไปด้วยเจ้าสัตว์ทะเลตัวจิ๋วที่เก็บตัวอย่างมา โดยเติมน้ำยาฟอร์มาลีน ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ทำให้เป็นกลาง และผสมสี Bengal Rose ให้ท่วมตัวอย่างดินที่รวมกันเป็นก้อนเบาๆ ให้น้ำยาฟอร์มาลีนได้ผสมกับดินจนทั่ว เพื่อให้สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็กถูกดองไปพร้อมกัน เก็บถุงตัวอย่างใส่กล่องให้มิดชิดแล้วนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการต่อไป
               เพียง ขั้นตอนการเก็บตัวอย่าง ก็ละเอียดซับซ้อนจนหลายคนอยากจะถอดวิญญาณนักวิจัยออกจากร่าง แต่ก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ได้รู้ปริมาณของเจ้าตัวเล็ก ยิ่งมีมากก็หมายถึงอาหารที่อุดมสมบูรณ์ แต่หากมากเกินไปก็ต้องหาสาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น งานวิจัยจึงมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะนอกจากจะเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ แล้ว ยังทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสรรพชีวิต และการเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลน

1-1
               เล่า มาเสียยืดยาว แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่บางส่วนของผลงานวิจัยพืชและสัตว์ของป่าชายเลนปราณ ที่มีขึ้นในปี พ.ศ. 2547 และปี พ.ศ. 2548 เท่านั้น
               10 ปีผ่านไป ปตท. ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยสำรวจทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในผืนป่าชายเลน ปราณอีกครั้ง เพื่อศึกษาและสำรวจความเปลี่ยนแปลงความสมบูรณ์ของป่าชายเลนในพื้นที่ศูนย์ฯ สิรินาถราชินี และพื้นที่ใกล้เคียง ในระยะเวลาที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลและประมวลผล คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี พ.ศ. 2558
               ถึงตอนนั้นคงได้หยิบยกเรื่องราวของเจ้าตัวเล็กมาเล่าสู่กันฟังอีก
credit http://www.pttplc.com/TH/Default.aspx
 

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment